“ภูมิใจไทย” ประกาศชัด! หนุนยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ภายใต้รธน. ฉบับประชาชน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมพรรคภูมิใจไทย มีมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐ
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แถลงถึงข้อเสนอของพรรคต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ว่า 1.พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่กร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับรองตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.พรรคเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบหมวด 1 และ หมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 3.พรรคเสนอให้ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน มีความเป็นอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยมีความมุ่งหมายต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 3.1รัฐธรรมนูญต้องสร้างความเท่าเทียม ความเสมอภาค ในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคเอกชน โดยรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนให้มีการอำนวยความสะดวก และเปิดกว้างในการประกอบอาชีพ พร้อมลดอำนาจในการควบคุมที่เป็นลักษณะการสกัดกั้น และสร้างเงื่อนไข ที่ทำให้ประชาชนมีความไม่เท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพสุจริต ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้ 3.2รัฐธรรมนูญต้องแก้ปัญหาความหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด 3.3รัฐธรรมนูญต้องสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจการบริหาร และงบประมาณ ไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นมากที่สุด
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า 4.พรรคภูมิใจไทยพร้อมให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของส.ส.ร. เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วพรรคเห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และข้อเสนอของภาคประชาชน 5.พรรคไม่สนับสนุนการคุกคามผู้เห็นต่างทุกกรณี เพราะการรับฟังความเห็นต่างเป็นลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และ 6.การสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเร่งด่วนของรัฐบาลในข้อ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาว่าสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ