นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(สบอท.) กล่าวเปิดเผยว่า
การประชุมวิชาการอาชีวะสัญจร ครั้งที่ 2 ภาคใต้ ณ โรงแรมนิภาการ์เด้น จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 (วานนี้) โดยมีว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมประชุมวิชาการ ปัจจุบันสู่อนาคตการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถภาพสูง เพื่อพัฒนาประเทศ “สื่อสาร ส่งเสริม สู่การปฏิบัติ” สถานศึกษา สังกัดอาชีวะทั้งภาครัฐภาคเอกชน 14 จังหวัดภาคใต้
ถือเป็นมิติใหม่ที่ผู้บริหารระดับสูงของอาชีวะส่วนกลางเดินทางลงพื้นที่มาพบปะสื่อสารให้กำลังใจกับพี่น้องผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในสังกัดในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อพูดคุยหารือเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาภายใต้วิสัยทัศน์ “ผลิตและกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถภาพสูง เพื่อพัฒนาประเทศ” และแนวคิดประเทศไทยมั่นคง ร่ำรวย ด้วยมืออาชีวะ ทางสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (สบอท.) และเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ค.ร.อ.ท. พร้อมรวมพลังสนับสนุนในการขับเคลื่อนพัฒนาอาชีวะผ่านนโยบายเร่งด่วน 9 Qick Win และ 5 นโยบายหลัก ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อที่จะยกระดับการจัดการอาชีวศึกษา ในระดับภูมิภาคเพราะในแต่ละพื้นที่ย่อมมีความจำเป็นความต้องการปัญหาและการพัฒนาที่มีความแตกต่างกันไป
นายทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการประชุมในครั้งนี้ทางสมาคมฯ และเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ต้องขอบคุณ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการอาชีวะเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้สนับสนุนผลักดันการจัดตั้งสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(สบอท.) ขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกของวงการอาชีวะที่จะได้รวมพลังกัน และในวันนี้ก็ให้โอกาสสมาคมฯ และ ค.ร.อ.ท. มาพูดคุยประเด็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ ตามที่สมาคมฯ ร่วมกับ ค.ร.อ.ท. และสมาชิกทั่วประเทศได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงสมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 -11 มกราคม ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภา
โดยสาระสำคัญเพื่อต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นกฎหมายแม่บทด้านการศึกษา เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษาซึ่งจะต้องผลิตกำลังคนมีทักษะฝีมือมีเจตคติที่ดีต่อในการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและในการพัฒนาประเทศทุกวงการอย่างแท้จริง แต่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ ไม่ได้มีการเขียนเนื้อหาในส่วนของการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาชัดเจนเพียงพอตามที่ชาวอาชีวะได้ร้องขอมาตั้งแต่ชั้นของการยกร่าง ตามที่ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ครู บุคลากรนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง สถานประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนได้ส่งผ่านสมาคมฯ และ ค.ร.อ.ท. ว่าจะขอเสนอเพิ่มเติมให้มีการบัญญัติในเรื่องของการอาชีวะโดยเฉพาะเหมือนกับการอุดมศึกษา ซึ่งได้เขียนไว้ในมาตรา 31 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปัจจุบันนี้ที่ได้บัญญัติการจัดอาชีวศึกษาไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 20 ทางสมาคมฯ จึงรวมพลังกันไปยื่นเสนอให้มีการบัญญัติในเรื่องการจัดการอาชีวศึกษา ไว้ในกฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะในมาตรา 71 และ 72 หรือในมาตราใดมาตราหนึ่งในเรื่องของการจัดการอาชีวศึกษาไว้เป็นการเฉพาะ หลังจากนี้สมาคมฯจะร่วมกับเครือข่าย ค.ร.อ.ท. พี่น้องอาชีวะภาคใต้ที่มาประชุมวันนี้และพี่น้องชาวอาชีวะทั่วประเทศรวมพลังผลักดันให้ออกพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา หลังจากที่กฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว นายทวีศักดิ์ กล่าว