Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1เรียกร้อง ทุกภาคส่วน ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ช่วยบรรเทาเหตุสลดกราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู


แถลงการณ์เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1

ตามที่ปรากฏข่าว เหตุการณ์อดีตตำรวจนายหนึ่งก่อเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ทำร้ายและไล่ยิงผู้คนที่พบเห็นตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่ง ก่อนปลิดชีพตนเองพร้อมลูกและภรรยา เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นเหตุให้มีเด็ก และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จำนวนหลายสิบรายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น

เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1 ขอประณามการก่อเหตุอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำต่อเด็ก สตรี และผู้อ่อนแอกว่า และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุอุกอาจสะเทือนขวัญที่กระทำด้วยความโหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม และผิดต่อกฎหมาย อันเป็นการพรากสิทธิในชีวิตและร่างกายของหลายคนไปอย่างไม่ควรเกิดขึ้น  โดยเฉพาะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคมซึ่งสมควรต้องได้รับการปกป้องยิ่ง 

ดังที่หลักการสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกคนไว้ เช่นเดียวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งกำหนดให้รัฐภาคียอมรับว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต และประกันอย่างเต็มที่ให้เด็กได้มีชีวิตอยู่รอดและได้รับการพัฒนา

เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1 จึงขอเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ปฏิบัติและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุสลดครั้งนี้ร่วมกัน ดังต่อไป

1. ขอให้รัฐบาล,หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ภาคเอกชนดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหาย และฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็วและทั่วถึง

2. ขอให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันสรุปบทเรียน มูลเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำลักษณะการกระทำในแบบที่เรียกว่า ‘เหตุกราดยิงสาธารณะ’ หรือ Public Mass Shooting ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่า จากสถิติในต่างประเทศ ทุกครั้งที่เกิดเหตุกราดยิงใหญ่ขึ้นมา จะมีเหตุกราดยิงตามมาด้วยความถี่ที่มากขึ้น ซึ่งไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวในประเทศไทยอีก ซึ่งพบว่าในต่างประเทศมักมีสาเหตุมาจากการป่วยทางจิต การถูกสังคมบีบคั้น ถูกข่มเหง ถูกเย้ยหยัน  และพฤติกรรมที่ลอกเลียนความรุนแรงจากเกมส์คอมพิวเตอร์

3. ขอให้สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอข่าว เผยแพร่ หรือส่งต่อภาพ/คลิปวิดีโอความโหดร้ายและรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมความรุนแรงหรือความเศร้าสลดอันส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ และทำให้บุคคลทั่วไปสามารถล่วงรู้ถึงตัวตนของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้เสียหายหรือครอบครัวของผู้กระทำผิดที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 รวมทั้งแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ที่ร่วมกันกำหนดโดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ปสม.1
7 ตุลาคม 2565