Hot Widget

Header ADS
Type Here to Get Search Results !
Header ADS

“กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ฉบับภาษาไทย”

งานเปิดตัว “กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ฉบับภาษาไทย” โดยเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร, 10 มิถุนายน 2567 – เครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย (Thailand Safe School Network: TSSN) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับประเทศ ในการผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 มีความภูมิใจอย่างยิ่งในการจัดงานเปิดตัว “กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 ฉบับภาษาไทย”

 โดยกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษาฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในการปรับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาในบริบทของประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลจากความความร่วมมือระหว่างองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชั่น (Prudence Foundation) และ Save the Children Thailand (มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการคุ้มครองพลเรือนของคณะกรรมาธิการยุโรป (ECHO) งานเปิดตัวครั้งนี้ ได้จัดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่ห้องราชา 2 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

ทั้งนี้ กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ. 2565 – 2573 เริ่มพัฒนาจากความพยายามผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ผ่านการนำของ Asia Coalition for School Safety (APCSS) และได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2555 ตั้งแต่นั้นมา หน่วยงานด้านการศึกษาในกว่า 60 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาคทั้งในเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา และแคริบเบียน ได้นำกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษาฉบับดังกล่าวไปปรับใช้

นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อุบัติเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและนักเรียนในหลายพื้นที่ หน่วยงาน Global Alliance for Disaster Risk Reduction and Resilience in the Education Sector (GADRRRES) จึงได้ดำเนินการปรับปรุงกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา (Comprehensive Schools Safety Framework: CSSF) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานด้านการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนด้านการศึกษา ส่งผลให้กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 ฉบับแก้ไข เสร็จสมบูรณ์และเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 ต่อมาได้มีการเปิดตัวเอกสารดังกล่าวอย่างเป็นทางการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ได้แก่ รัฐบาล หน่วยงานด้านการพัฒนา หน่วยงานด้านการศึกษา เจ้าหน้าด้านการศึกษา และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 
ทั้งนี้ กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 ได้นำเสนอแนวทางเชิงกลยุทธ์แก่ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานในประเด็นนี้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และต่อเนื่องสำหรับทุกคน กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษาฉบับนี้ ใช้แนวทาง “ความเสี่ยงและภัยพิบัติทุกรูปแบบ”  ซึ่งมุ่งเน้นการจัดการภัยในหลากหลายรูปแบบ และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกรอบงานระดับโลกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก ภายในเนื้อหาประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หลักการพื้นฐาน ซึ่งกล่าวถึงระบบและนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดความปลอดภัยในสถานศึกษา และเสาหลักทั้ง 3 ประกอบไปด้วย เสาหลักที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เสาหลักที่ 2 การบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษาและความต่อเนื่องทางการศึกษา และเสาหลักที่ 3 การศึกษาการลดความเสี่ยงและการรู้รับปรับตัว
เครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วยหน่วยงาน 6 องค์กรหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) Save the Children Thailand และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองกรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา ปี พ.ศ.2565 – 2573 เสร็จสิ้นแล้วและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่เอกสารฉบับนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนไทยต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับความปลอดภัยของสถานศึกษาทั่วประเทศไทย